พิธีเปิดชมรม Startup club วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00 น. นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ได้เข้าร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดชมรม Startup club วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "การสร้างแรงจูงใจด้านการเป็นผู้ประกอบการแก่นักเรียนสมาชิกชมรม Startup club วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ ณ วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ โดยมีนายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดงาน เพื่อสร้างบุคลากรตั้งแต่วัยเด็กและผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเหล่านี้ผ่านกระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นตั้งแต่ในโรงเรียน
นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ได้กล่าวถึง ประเด็นแนวทางการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดบึงกาฬ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นแนวทางการพัฒนาที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ว่าศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬคือมีภูมิประเทศที่ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีภูมิประเทศที่สามารถเชื่อมต่อด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร และด้านอื่นๆ ตามเส้นทางแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว จังหวัดเงะอานห์ เชื่อมกับเมืองหนานหนิง มลฑลกวางซี (จีนตอนใต้) ได้ทั้งระบบล้อ และระบบราง อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับท่าเรือ เมืองวินห์ และได้นำเสนอแผนงาน/โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดบึงกาฬทั้ง 3 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง โดยนำเสนอโครงการหาดบึงกาฬเฉลิมพระเกียรติ
2.ด้านการค้าการลงทุน โดยรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เพื่อให้เด็กได้มีการเตรียมความพร้อมเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5 ดำเนินการแล้วเสร็จ
และ 3. ด้านการเกษตร โดยนำเสนอแผนการพัฒนายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมยางในการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลกจึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้น และจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 887,852 ไร่ ที่มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นจึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงพัฒนาการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางในชั้นปลาย ตามห่วงโซ่อุตสาหกรรมยาง ต้นน้ำ -> กลางน้ำ -> ปลายน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ล้อรถยนต์/ล้อรถมอเตอร์ไซร์ หมอนยางพารา ถุงมือทางการแพทย์ รองเท้า กระเป๋า อุปกรณ์กีฬา และผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนได้มองเห็นว่า ถ้าเราทำให้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราต่างๆก็จะทำให้เกิด margin สูงขึ้นมาก อีกอย่างหนึ่งปัจจุบันมีผู้บริโภคหลายประเทศนิยมสินค้าที่มีส่วนประกอบที่เป็นลักษณะของยาง คือนุ่ม ทนทาน และยืดหยุ่นได้ดี ซึ่งยังมีอีกหลายๆ product ที่น่าสนใจ นำยางพารามาเป็นวัตถุดิบแปรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อให้นักเรียนนำกรอบแนวคิดที่ได้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬให้เกิดการพัฒนาในอนาคตที่ยั่งยืนต่อไปได้
|