พิธีเปิดตลาดต้องชมแห่งที่ 2 ของจังหวัดบึงกาฬ
วันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ณ บ้านคำแคนพัฒนา ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.บึงกาฬ นางกุลณี อิศดิศัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดตลาดต้องชมแห่งที่ 2 ของจังหวัดบึงกาฬ ภายไต้ชื่อตลาดสมุนไพรภูทอก จ.บึงกาฬ โดยมีนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้า และว่าที่ รต.ภูมิพันธิ์ บุญมาตุ่น รองประธานหอการค้าฝ่ายคมนาคมและโลจิสติกส์/ประธาน YEC ส่วนราชการ ผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ ตลาดแห่งนี้นอกจากเป็นตลาดสมุนไพรแล้วยังมีสินค้าในชุมชนมากมายออกจำหน่ายไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าโอทอ๊ป ขึ้นชื่อจากจังหวัดบึงกาฬ
“ตลาดต้องชม” เป็นสถานที่ช่วยเหลือประชาชน กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า OTOP ตลอดจนประชาชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยตรงแก่ผู้บริโภค และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เสริมนอกเหนืออาชีพหลัก โดยตลาดต้องชมแห่งที่ 2 ของจังหวัดบึงกาฬ ภายไต้ชื่อตลาดสมุนไพรภูทอก จ.บึงกาฬ จะเป็นการต่อยอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดบึงกาฬให้มีความเข้มแข็งเนื่องจากตัวตลาดติดกับภูทอกหรือวัดเจติยาคีรีวิหาร เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ผู้ปฏิบัติธรรมและนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมและมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นผู้ก่อตั้ง จุดเด่นของภูทอก คือ บันไดและสะพานไม้ขึ้นชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก ที่ใช้พลังศรัทธาแรงงานคนช่วยกันก่อสร้างเวียนขึ้นภูทอก มีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างถึง 5 ปีเต็ม นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านคำแคนพัฒนาคือตลาดสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นหมู่บ้านผลิตและจำหน่ายสมุนไพรพื้นบ้านโดยสมุนไพรที่นำมาใช้จะนำมาจากภูเขาในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและปลูกขึ้นเอง โดยหมู่บ้านแห่งนี้มีกลุ่มสมุนไพร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสมุนไพรหมอพื้นบ้านอีสานและกลุ่มผู้ปลูกแปรรูปสมุนไพรภูทอก โดยกลุ่มที่มีความโดดเด่น ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรหมอพื้นบ้านอีสาน จะออกจำหน่ายสินค้าสมุนไพรแปรรูปร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีบริการนวดตัวนวดฝ่าเท้าด้วย ตลาดต้องชมแห่งนี้เป็นสถานที่รวบรวมและกระจายสินค้าผลิตผลต่างๆ ของชุมชน ทั้งผลิตผลทางการเกษตร สินค้าแปรรูป ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน ควบคู่กับการดูแลให้ความเป็นธรรมทั้งด้านปริมาณ ราคา แก่ผู้บริโภค รวมทั้งการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชน นำมาซึ่งการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
|