วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ได้มอบหมาย ว่าที่ รต.ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น รองประธานหอการค้าฝ่ายคมนาคมและโลจิสติก/ประธานYEC พร้อมด้วย นายธงศักดิ์ ใจพิทักษ์ธรรม รองประธานหอการค้าฝ่ายความมั่งคง และนางสาวกันชนันท์ กวีกิจพิทักศ์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค ประจำปี 2560 ซึ่งก่อนเริ่มประชุมได้เข้าร่วมงาน THAIFEX - World of Food Asia 2017 สุดยอดงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับนานาชาติของไทย พร้อมชูแนวคิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ หอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ ประเทศเยอรมนี
ซึ่งในงาน นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ด้วยพื้นฐานการเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารได้ และทำให้อุตสาหกรรมอาหารกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมศักยภาพของไทย สามารถทำรายได้ให้กับครัวเรือน เกษตรกรและชุมชนในชนบท ไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ปัจจุบันสินค้าอาหารของไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ มากกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยสินค้าอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกในตลาดโลก อาทิ ข้าว ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร คิดเป็นมูลค่าสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป เฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์นั้น เราดำเนินโยบายการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทยและเครื่องดื่ม ด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์สินค้าไทยในระดับสากล มีเป้าหมายให้ไทยเป็นครัวของโลก (Thailand Kitchen of the World) รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในระดับ SMEs และวิสาหกิจรายย่อย มุ่งเน้นนำเทคโนโลยีนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation) มาใช้ในภาคการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งจะสามารถยกระดับผู้ประกอบการไปสู่ตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง การจัดงาน THAIFEX - World of Food Asia ของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน หอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ ประเทศเยอรมนี ถือเป็นกลไกหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว
โดยการจัดงานครั้งนี้ มุ่งเน้นชูนวัตกรรมอาหารเป็นหลัก รวมถึงการนำเสนอ 11 เทรนด์อาหารโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบแนวโน้มใหม่ๆ มีโอกาสและช่องทางใหม่ๆ ในการคิดค้นอาหารประเภทต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันการนำนวัตกรรมมาพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหารนั้นมีทิศทางและแนวโน้มให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น มีการพัฒนาจัดทำในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) มีความสะดวกรวดเร็วแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์ รวมถึงการพัฒนาอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน การหันมาคำนึงผลทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการใช้วัสดุเหลือใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรม
|